สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มเล่น Visual Basic

Posted by Unknown Tuesday, July 31, 2012 0 comments

ก่อนเริ่มเล่น Visual Basic


     ในอดีตการเขียนโปรแกรมหรือการพัฒนาแอพพลิเคชันขึ้นมาสักตัว โปรแกรมเมอร์จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในตัวภาษา ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนา เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะพัฒนาด้วยภาษาใดก็ตาม เช่น ภาษา C, C++, ปาสคาล เป็นต้น และจะต้องเขียนโค้ดที่มีความสัมพันธ์กันตั้งแต่ บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดสุดท้าย หรือที่เรียกว่า การเขียน โค้ดแบบ command line อีกทั้งยังต้องออกแบบรูปร่างหน้าตาของแอพพลิเคชัน ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้อีกด้วย ซึ่งถ้าถูกใจผู้ใช้ก็ดีไป แต่ถ้าต้องมีการแก้ไขแล้วละก็ ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณได้ทำมา ก็ต้องแทบรื้อทำใหม่หมด ทำให้โปรแกรมเมอร์เสียเวลา ในการพัฒนาแอพพลิเคชันเป็นอย่างยิ่ง
    ต่อมาไมโครซอฟท์ได้นำเสนอรูปแบบในการเขียนแอพพลิเคชันชนิดใหม่ด้วยการออก Visual Basic 1.0 แม้ว่า เวอร์ชันแรกนี้ จะถูกโปรแกรมเมอร์ในยุคนั้น มองว่าเป็นเวอร์ชันทดลอง แต่มันก็ได้สร้างความแปลกใหม่ ในการเขียนโปรแกรมเป็นอย่างยิ่ง ความยุ่งยากซับซ้อน ถูกซ่อนไว้เบื้องหลัง มีแต่ความสะดวกสบายไว้เบื้องหน้า ที่เตรียมไว้ให้โปรแกรมเมอร์ เนื่องจาก concept ในการเขียน โปรแกรมแทบจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งในยุคปัจจุบัน Visual Basic ได้พัฒนามาถึงเวอร์ชัน 6.0 แล้ว ความสามารถของตัวภาษา VB เองก็มีมากขึ้น เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ทำให้ไมโครซอฟท์เพิ่มเติมฟีเจอร์ต่างๆ เข้าไปมากมาย จนกระทั่ง VB แทบจะเป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาแอพพลิเคชันที่ไร้เทียมทาน เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ล้วนแล้วแต่มาจาก ไมโครซอฟท์แทบทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า ไมโครซอฟท์ได้เพิ่มความสามารถในทุกๆ เวอร์ชันของ VB เสมอ เช่น สามารถสร้างแอพพลิเคชันชนิด DHTML ซึ่งใช้ run บน web ได้, รวมถึงการผนวกเทคโนโลยี ActiveX เข้ากับตัวคอนโทรลของ VB ทำให้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับเครื่องมือ ที่สนับสนุนเทคโนโลยีนี้ได้อีกด้วย แต่ VB ยังคงรักษาเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ไว้ได้เป็นอย่างดีนั่นคือ สามารถที่จะพัฒนาแอพพลิเคชันได้ ในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงความง่าย ต่อการเรียนรู้ในตัวภาษา และทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยภาษาอื่นๆ   คุณสามารถที่จะสร้างแอพพลิเคชันออกมาได้อย่างรวดเร็ว
     VB ได้จัดเตรียมเครื่องมือต่างๆ ที่เรียกว่า คอนโทรล (controls) ไว้คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ โปรแกรมเมอร์มากมาย คุณจะต้องศึกษา และทำความเข้าใจกับตัวคอนโทรลให้มากที่สุด ซึ่งตัวคอนโทรลเหล่านี้นี่เอง ที่อยู่เบื้องหลังทำให้ VB ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ในยุคปัจจุบัน เพราะเนื่องจากมันได้ลดขั้นตอนต่างๆ ในการพัฒนาไปได้มากทีเดียว
    แนวทางการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา VB จะเป็นไปในลักษณะการนำคอนโทรลชนิดต่างๆ เช่น TextBox, Label, ComboBox เป็นต้น นำมาวาด เพื่อออกแบบหน้าตาแอพพลิเคชันที่เรียกว่า กราฟฟิกยูสเซอร์ อินเตอร์เฟส (Graphic User Interface-GUI ) คุณสามารถที่จะออกแบบ อินเตอร์เฟสได้อย่างอิสระ ให้ตรงกับจุดประสงค์และ การนำไปใช้งานของคุณก่อน แล้วจึงเริ่มเขียนโค้ด เพื่อตอบสนองการกระทำของผู้ใช้ (ใน VB เรียกว่า เหตุการณ์ event) ซึ่งถือเป็นหลักการเขียนโปรแกรมที่เรียกว่า การเขียนโปรแกรมเพื่อตอบสนองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Event-Driven Programming)
    สิ่งต่างๆ ที่คุณนำไปใช้ร่วมกันเพื่อเป็นแอพพลิเคชันหนึ่งๆ เช่น แถบเมนู, dialog box , toolbars, TextBox, ปุ่ม OK ฯลฯ เป็นต้น จะถูกมองเปรียบเสมือนว่า เป็นวัตถุชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า อ๊อบเจ็กต์ (object model) ทุกสิ่งทุกอย่าง ในแอพพลิเคชัน VB จะมองเป็นอ๊อบเจ็กต์ ที่คุณสามารถควบคุมพฤติกรรม, แก้ไข และกระทำโดยตรงต่ออ๊อบเจ็กต์นั้นได้ ด้วยการเขียนโค้ด หรือสามารถเปลี่ยนแปลง คุณสมบัติ (properties) ประจำตัวของอ๊อบเจ็กต์นั้นได้โดยตรง ตัวคอนโทรลก็ถูกมองเป็นอ๊อบเจ๊กต์ เช่นกัน ในทุกๆ อ๊อบเจ็กต์จะมีคุณสมบัติ (properties) และ เมธอด (methods) ประจำตัว ในแต่ละอ๊อบเจ็กต์ อาจจะมีคุณสมบัติและเมธอดที่เหมือน หรือต่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของอ๊อบเจ็กต์ คุณจะพัฒนาแอพพลิเคชัน ได้ดีหรือไม่ ส่วนหนึ่งจะมาจากการที่คุณสามารถ ใช้งานคอนโทรล, แก้ไขคุณสมบัติและเมธอดได้ตรงตามความต้องการของคุณ และเต็มประสิทธิภาพของคอนโทรลนั้นๆ ได้หรือไม่
    ในการพัฒนาแอพพลิเคชันด้วย VB การเขียนโค้ดจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ที่เรียกว่า โพรซีเดอร์ (precedure) แต่ละโพรซีเดอร์จะประกอบไปด้วย โค้ดที่คุณพิมพ์เข้าไปแล้วทำให้คอนโทรลหรืออ๊อบเจ็กต์นั้นๆ ตอบสนองการกระทำ ของผู้ใช้ได้โดยสมบูรณ์ในตัวมันเอง ซึ่งเรียกว่า การเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ (Object Oriented Programmming-OOP) แต่ตัวภาษา VB ยังไม่ถือว่าเป็น OOP อย่างแท้จริง เนื่องจากข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่ Visual Basic ไม่สามารถทำได้เหมือนกับภาษา C++ การเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ มีข้อดีก็คือ ตัวโค้ดจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบ และดักจับข้อผิดพลาด (debug) ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวนี้ ไม่ได้ไปกระทบกับโค้ด ส่วนอื่นๆ ในตัวแอพพลิเคชันนั้นเลย ทำให้โปรแกรมเมอร์สามารถพัฒนาแอพพลิเคชันออกมา ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด โดยที่ไม่ต้องเสีย เวลามากมายดังเช่นในอดีต

Hardware ที่เหมาะสมกับการเล่น Visual Basic 6.0

     เพื่อที่จะสามารถรัน Visual Basic ได้อย่างไม่มีปัญหา คุณต้องแน่ใจก่อนว่า hardware และ software ของคุณพร้อมแล้ว ซึ่งความต้องการของระบบมีดังนี้
  • Microsoft Windows 95 หรือมากกว่า, หรือ Microsoft Windows NT Workstation 4.0 (Service Pack 3 recommended) หรือมากกว่า
  • 486DX/66 MHz หรือสูงกว่า (แนะนำให้ใช้ Pentium หรือสูงกว่า), หรือชิป Alpha processor ที่สามารถรัน Microsoft Windows NT Workstation ได้
  • ไดรฟ์ CD-ROM
  • การ์ด VGA หรือสูงกว่า สนับสนุนการแสดงผลระบบ Windows
  • แรม 16 MB สำหรับ Windows 95, 32 MB สำหรับ Windows NT Workstation.
  • เมาส์ และอื่นๆที่ระบบ Windows รองรับ
หมายเหตุจากผู้เขียน นี่เป็นสเปกขั้นต้นของการเล่น Visual Basic 6.0 ที่ไมโครซอฟท์ระบุไว้ ถ้าคุณรัน Visual Basic 6.0 ภายใต้ Windows 98 คุณควรจะใช้ เครื่องขนาด Celleron 300A กับแรมขนาด 64 MB ขึ้นไป จึงจะสามารถเล่น Visual Basic 6.0 โดยที่คุณไม่รำคาญ :-) โดยเฉพาะแรม ยิ่งมากยิ่งดี

เริ่มต้นกับ Visual Basic

     สิ่งแรกที่คุณจะได้พบเมื่อคุณเข้าสู่โปรแกรม VB  ก็คือ VB จะแสดงไดอะล๊อกบ๊อกซ์ เพื่อให้คุณเลือกพัฒนาชนิดของแอพพลิเคชัน ใน VB   ชนิดของแอพพลิเคชันมีมากมายหลายชนิด เช่น ชนิด DHTML เป็นแอพพลิเคชันที่ใช้รันบน web คุณสามารถสร้างเว็บเพจแบบ DynamicHTML ได้ตรงตามมาตรฐานขององค์การ w3 consurtium ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบได้จาก www.w3.org/ ชนิด ActiveX.dll ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่ทำงานในลักษณะ In-Process จัดเก็บอยู่ในลักษณะไฟล์ไลบราลี่ (*.dll) เป็นต้น
vb1-1.gif (22103 bytes)      ในเบื้องต้นผู้เขียนขอแนะนำให้เลือกพัฒนาแอพพลิเคชันชนิด Standard.EXE ก่อน เพราะเป็นแอพพลิเคชัน ที่ใช้ทั่วๆไป เมื่อคุณคอมไพล์ (compile) โปรเจ็กต์แล้ว จะได้แอพพลิเคชันที่มี นามสกุล .exe เมื่อคุณเลือก ชนิดของแอพพลิเคชันแล้ว จะเข้าสู่สภาพแวดล้อม (environment) ของ VB 6.0 ซึ่งไมโครซอฟท์เรียกว่า Integrated Development Environment - VBIDE
รูปที่ 1-1 แสดงไดอะล็อกซ์บ๊อกซ์ชนิดของแอพพลิเคชันสำหรับให้โปรแกรมเมอร์เลือกพัฒนา

ทำความเข้าใจกับส่วนต่างๆของ VBIDE

     VBIDE คือ กลุ่มของเมนู, ทูลบาร์, หน้าต่าง properties, หน้าต่าง project explorer ฯลฯ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นสภาพแวดล้อมของโปรแกรม VB 6.0 ดังนั้น ต่อไปถ้าผู้เขียนจะกล่าวถึงสภาพแวดล้อมของ VB 6.0 ผู้เขียนจะใช้คำว่า " VBIDE "
vb1-2.gif (43092 bytes)
รูปที่ 1-2 แสดงสภาพแวดล้อมของ VB 6.0

    ในแต่ละส่วนของ VBIDE จะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งในระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชัน คุณจะต้องใช้ส่วนต่างๆ เหล่านี้ ในการพัฒนาแอพพลิเคชัน เช่น แถบเมนูบาร์ (Menu Bars) จะมีคำสั่งต่างๆ ที่ครอบคลุมการทำงานทั้งหมดในการพัฒนา, แถบทูลบาร์ (Tool Bars) จะประกอบไปด้วย ปุ่มต่างๆ ที่แทนคำสั่งในเมนูที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น การเปิดโปรเจ็กต์, เซฟโปรเจ็กต์ เป็นต้น หัวข้อนี้จะเป็นการอธิบายการใช้งาน VBIDE เบื้องต้นที่คุณควรทราบ
     สำหรับในส่วนที่ผู้เขียนไม่ได้อธิบายในหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะอธิบายเมื่อเนื้อหามีความสัมพันธ์กับ VBIDE ส่วนนั้นๆ ซึ่งจะทำให้คุณ สามารถทำความเข้าใจได้อย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว ส่วนเมนูบาร์ผู้เขียนจะไม่อธิบายโดยตรง เพราะเนื่องจากว่า คำสั่งในเมนูบาร์ที่มีการใช้งานบ่อย เกือบทั้งหมด ได้ถูกรวบรวมไว้ในทูลบาร์แล้ว ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงการใช้งานทูลบาร์ใด ผู้เขียนจะอ้างถึงคำสั่งในเมนูบาร์ด้วย

หน้าต่าง New Project (New Project Window)

     หน้าต่าง New Project จะปรากฎขึ้นมาเมื่อคุณเริ่มต้นรัน VB หรือเลือกเมนู File/New Project ไดอะล๊อกบ๊อกซ์นี้ จะแสดงชนิดของแอพพลิเคชัน ที่คุณต้องการพัฒนา ไอคอนแต่ละตัวจะแทนประเภทของแอพพลิเคชัน ซึ่งสื่อด้วยชื่อ หรือนามสกุลที่ปรากฎประจำตัวไอคอนนั้นๆ โดยปกติแล้ว แอพพลิเคชันชนิด Standard.EXE จะเป็นแอพพลิเคชันพื้นฐาน ที่คุณควรจะเริ่มต้นพัฒนา เพราะเป็นแอพพลิเคชันที่ใช้งานโดยทั่วไป ไฟล์ที่ได้จากการ คอมไพล์แล้วจะมีนามสกุล .exe
vb1-3.gif (15281 bytes)
รูปที่ 1-3 แสดงไดอะล๊อกบ๊อกซ์ New Project

     สำหรับรายละเอียดแอพพลิเคชันชนิดอื่นๆ มีดังนี้
ไอคอน ความหมาย
vb1-3-1.gif (1220 bytes)
ใช้พัฒนาแอพพลิเคชันทั่วๆไป
vb1-3-2.gif (1181 bytes)
ใช้พัฒนาแอพพลิเคชันที่สามารถใช้งาน และเชื่อมโยงกับแอพพลิเคชันอื่นๆ ที่สนับสนุนเทคโนโลยี ActiveX
vb1-3-3.gif (1160 bytes)
เป็นแอพพลิเคชันชนิดเดียวกันกับ ActiveX.EXE แต่จะเก็บอยู่ในลักษณะไฟล์ไลบราลี่ .dll (In-Process) ซึ่งไม่สามารถรันได้ด้วยตัวมันเอง จะต้องถูกเรียกใช้งานจากแอพพลิเคชันอื่นๆ
vb1-3-4.gif (1235 bytes)
ใช้สร้างคอนโทรล ActiveX ขึ้นมาใช้งานเอง
vb1-3-5.gif (1231 bytes)
  เป็นเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกให้สามารถสร้างแอพพลิเคชันได้อย่างรวดเร็ว โดยมันจะสร้างองค์ประกอบเบื้องต้นหลักๆ ของแอพพลิเคชัน จากขั้นตอนที่คุณได้เลือกไว้ แอพพลิเคชันที่ได้จะมีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่งเท่านั้น คุณต้องปรับปรุง, เพิ่มเติมและแก้ไข เพื่อทำให้เป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้โปรแกรมเมอร์ เริ่มต้นโปรเจ็กต์ได้เป็นอย่างดี   ผู้เริ่มต้นอาจใช้เครื่องมือตัวนี้ เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาแอพพลิเคชันก็ได้
vb1-3-6.gif (1194 bytes)
ใช้สำหรับสร้างโปรแกรมการจัดการต่างๆ เช่นการติดต่อกับฐานข้อมูล เป็นต้น
vb1-3-7.gif (1190 bytes)
เป็นชนิดโปรเจ็กต์ที่เป็นแบบฟอร์ม เพื่อติดต่อกับฐานข้อมูลโดยผ่านทางคอนโทรล ADO Data Control
vb1-3-8.gif (1220 bytes)
แอพพลิเคชันชนิด  Web Server
vb1-3-9.gif (1136 bytes)
ใช้สำหรับเพิ่มเติม utility เข้าไปใน VBIDE เพื่อเพิ่มความประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะมาจากผู้ผลิตอิสระรายอื่นๆ (Third-Party) หรือเพิ่มเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาใน VBIDE ก็ได้
vb1-3-10.gif (1270 bytes)
ใช้สร้างแอพพลิเคชันชนิดที่รันบน Internet จะเก็บอยู่ในรูปไฟล์ .dll ไม่สามารถรันได้ด้วยตัวมันเอง ต้องให้แอพพลิเคชันอื่นๆ ที่สนับสนุนเทคโนโลยี ActiveX เรียกใช้งาน
vb1-3-11.gif (1271 bytes)
ใช้สร้างแอพพลิเคชันชนิดที่รันบน Internet เช่นกัน แต่จะเก็บอยู่ในรูปไฟล์ .exe สามารถรันได้ด้วยตัวเอง แต่ server จะต้องสนับสนุนเทคโนโลยี  ActiveX ด้วยเช่นกัน
vb1-3-12.gif (1247 bytes)
ใช้พัฒนาแอพพลิเคชันรูปแบบของเอกสาร Dynamic HTML ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่ของการแสดงผลบน web
vb1-3-13.gif (1284 bytes)
ใช้สำหรับโหลด VBIDE ในรูปแบบที่ใช้พัฒนาแอพพลิเคชันในระดับ Enterprise ซึ่ง VB จะเพิ่มเติมคอนโทรล ActiveX อีกจำนวนหนึ่งขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เหมาะสำหรับเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูง และใช้กับโปรแกรมเมอร์มืออาชีพ ที่มีความเชียวชาญมากพอสมควร
            สำหรับในไดอะล๊อกบ๊อกซ์ New Project จะมีแท็บ (Tab) อยู่อีก 2 แท็บมีรายละเอียดดังนี้
  • แท็บ Existing ใช้สำหรับเปิดโปรเจ็กต์ที่คุณมีอยู่แล้ว
  • แท็บ Recent จะแสดงรายชื่อโปรเจ็กต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาครั้งล่าสุด โดยจะจัดเรืยงลำดับไปเรื่อยๆ จะแสดงรายละเอียดไดรฟ์, โฟล์เดอร์ และชื่อโปรเจ็กต์ ที่คุณจัดเก็บไว้
vb1-4.jpg (17888 bytes)
รูปที่ 1.4 แสดงแท็บ Existing ในไดอะล๊อกบ๊อกซ์ New Project

ทูลบาร์ (Tool Bars)

     เป็นที่รวบรวมคำสั่งที่ใช้งานในการพัฒนาแอพพลิเคชันบ่อยที่สุด ซึ่งจะมีคำสั่งเหมือนกันกับเมนูบาร์ คุณสามารถที่จะปรับแต่งทูลบาร์นี้ได้ โดยการเลือกเมนู View/Toolbars (หรือให้คุณคลิ๊กขวาบริเวณใดก็ได้บนทูลบาร์จะมี Pop-up เมนูปรากฎขึ้นมา ซึ่งจะมีคำสั่งให้เลือกเช่นกัน) สำหรับชื่อของปุ่มต่างๆ ที่อยู่บนทูลบาร์ คุณไม่จำเป็นต้องไปจดจำว่า มันแทนคำสั่งอะไร เพียงแต่ให้คุณเลื่อนเมาส์ไปวางบนปุ่มนั้น 2-3 วินาที จะมี ทูลทิป (ToolTip) ขึ้นมา เพื่อบอกคำสั่งที่ปุ่มนั้นทดแทนอยู่
    vb1-5.gif (7895 bytes)
รูปที่ 1.5 แสดงทูลทิปของทูลบาร์

ทูลบาร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.ทูลบาร์ Standard ถือได้ว่าเป็นทูลบาร์ปกติ (default) ที่คุณต้องใช้งานทุกครั้งและบ่อยที่สุด เนื่องจากว่าประกอบไปด้วย คำสั่งที่เกี่ยวกับการใช้งานทั่วๆ ไป เช่น การเปิดโปรเจ็กต์, เซฟโปรเจ็กต์ เป็นต้น เป็นหัวใจหลักของทูลบาร์เลยก็ว่าได้ ซึ่งรวบรวมคำสั่งมาจากเมนู File, Project, Debug, Run, Tool เป็นต้น
vb1-5-1.jpg (6263 bytes)
รูปที่ 1.5.1 รายการทูลบาร์ Standard
2.ทูลบาร์ Edit จะใช้ทูลบาร์นี้เมื่อคุณเริ่มเขียนโค้ดใน code editor คำสั่งหลักของทูลบาร์กลุ่มนี้ก็คือ Cut,Paste ซึ่งก็คือ คำสั่งในเมนู Edit นั่นเอง
vb1-5-2.gif (4175 bytes)
รูปที่ 1.5.2 รายการทูลบาร์ Edit

3.ทูลบาร์ Debug จะประกอบไปด้วยคำสั่งที่ใช้ในการตรวจสอบโค้ดของคุณ เช่น Run,Stop,Pause เป็นต้น เป็นกลุ่มคำสั่งที่คุณต้องใช้บ่อยเช่นกัน เพราะจะเป็นการทดสอบโค้ดของคุณว่าทำงานได้ตามความต้องการของคุณหรือไม่ ในบางครั้งอาจต้องใช้ควบคู่ไปกับหน้าต่าง Immediate
vb1-5-3.gif (3961 bytes)
รูปที่ 1.5.3 รายการทูลบาร์ Debug

4.ทูลบาร์ Form Editor คุณจะใช้กลุ่มคำสั่งนี้เมื่อคุณต้องการปรับขนาด, ย้าย, เปลี่ยนตำแหน่งคอนโทรลต่างๆ ที่อยู่บนฟอร์ม เป็นคำสั่งที่เหมือนกับเมนู Format
vb1-5-4.gif (3495 bytes)
รูปที่ 1.5.4 รายการทูลบาร์ Form Editor

ทูลบ๊อกซ์ (Tool Box)

     แถบทูลบ๊อกซ์เป็นที่รวบรวมคอนโทรล (controls) ต่างๆ ที่ใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชัน คุณสามารถเลือกใช้คอนโทรลได้จากที่นี่ คอนโทรลเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง ความสำเร็จของ Visual Basic ทุกเวอร์ชัน เพราะมันได้ซ่อนความยุ่งยากด้านเทคนิค ไว้ภายใต้การเลือกใช้งานที่แสนง่าย ตัวคอนโทรลใน VB สามารถแยกออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 2 กลุ่มคือ
vb1-6.gif (6471 bytes)      1.คอนโทรลภายใน (Intrinsic controls) เป็นชุดคอนโทรลมาตรฐานของ VB ทุกๆ ครั้งที่คุณรัน VB คอนโทรลกลุ่มนี้ จะถูกโหลดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ   คุณสามารถเลือกใช้งาน คอนโทรลกลุ่มนี้ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องใช้ไฟล์เพิ่มเติม และคุณไม่สามารถถอด (remove) คอนโทรลชุดนี้ออกจาก VBIDE ได้ เป็นชุดคอนโทรลที่ใช้งาน โดยทั่วไปในทุกๆ แอพพลิเคชัน คุณจะต้องใช้งานคอนโทรลกลุ่มนี้มากที่สุด2.คอนโทรล ActiveX (ActiveX controls) เป็นชุดคอนโทรลที่ไมโครซอฟท์ ผนวกเอาเทคโนโลยี ActiveX เข้าไปด้วย ถือเป็นคอนโทรลเพิ่มเติม ถ้าคุณต้องการใช้งานคอนโทรลกลุ่มนี้ คุณต้องใช้ไฟล์ *.ocx ประจำแต่ละคอนโทรล เข้ามาประกอบในโปรเจ็กต์ด้วย การเพิ่มคอนโทรลกลุ่มนี้เข้ามาในทูลบ๊อกซ์ โดยการเลือกเมนู Project/Components… (หรือคลิ๊กขวาบริเวณแถบทูลบ๊อกซ์เลือกคำสั่ง Components…ก็ได้) การใช้งานเบื้องต้น ผู้เขียนขอแนะนำให้คุณยังไม่ต้องเพิ่มเติมคอนโทรลในชุดนี้

รูปที่ 1.6 แสดงแถบเครื่องมือ control

vb1-7.gif (13627 bytes)
รูปที่ 1.7 แสดงการเพิ่มเติมคอนโทรล ActiveX เข้ามาในทูลบ๊อกซ์

ฟอร์ม (Form1)

     ฟอร์มถือได้ว่าเป็นอ๊อบเจ็กต์ตัวแรกที่คุณได้ใช้งาน คุณต้องใช้ร่วมกับคอนโทรลต่างๆ ประกอบกันขึ้นมาเป็นแอพพลิเคชันหนึ่งๆ  ฟอร์มจัดได้ว่า เป็นตัวบรรจุ     (container) คอนโทรลอื่นๆ   และทุกครั้งที่คุณรัน VB ขึ้นมา ฟอร์มว่างๆ จะถูกโหลดขึ้นมาเสมอ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับหน้าต่าง Project Explorer ที่จะกล่าวถึงต่อไปด้วย ใน 1 โปรเจ็กต์จะประกอบไปด้วยอย่างน้อยที่สุด 1 ฟอร์ม (มีโปรเจ็กต์บางชนิดจะไม่มีฟอร์ม เช่น พวกนามสกุล .dll เป็นต้น มันจะทำงานร่วมกับระบบ (In-Process) ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายในหัวข้อต่อๆไป) สำหรับรายละเอียดการใช้งานฟอร์ม ผู้เขียนจะอธิบายอีกครั้งในบทที่ 5
vb1-8.gif (11125 bytes)
รูปที่ 1.8 แสดงฟอร์มว่างๆใน VBIDE

หน้าต่าง Project Explorer (Project Explerer Window)

      หน้าต่าง Project Explerer ช่วยให้คุณสามารถบริหารและจัดการหลายๆโปรเจ็กต์ได้ในเวลาเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเนื่องจาก VB 6.0 สนับสนุนการพัฒนาแบบ Multiple Project ซึ่งสามารถเซฟโปรเจ็กต์เป็นกลุ่มงานได้ (นามสกุล .vbg) โดยที่ VB จะจัดกลุ่มโปรเจ็กต์ต่างๆ ให้คุณโดยอัตโนมัติ   ซึ่งถ้ามีโปรเจ็กต์เดียวก็จะมีนามสกุล .vbp
vb1-9.gif (4521 bytes)      หน้าต่าง Project Explorer จะแสดงรายการองค์ประกอบของแต่ละโปรเจ็กต์ แบบโครงร่างต้นไม้ (tree-view) ตัวโปรเจ็กต์จะถือว่า เป็นตัวแทนแอพพลิเคชันทั้งหมด ซึ่งจะอยู่ส่วนบนสุด ถัดมา จะแสดงองค์ประกอบต่างๆ ของโปรเจ็กต์นั้นๆ ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น มีฟอร์มกี่ฟอร์ม, มีกี่โมดูล เป็นต้น ถ้ามี 2 โปรเจ็กต์ขึ้นไป ก็จะแสดงแยกออกเป็นส่วนต่างหากอีกโปรเจ็กต์ ถ้าคุณต้องการใช้งานส่วนใด ของโปรเจ็กต์ไหน คุณสามารถคลิ๊กเลือกได้โดยตรง ซึ่งคุณต้องพิจารณาด้วยว่า รายการใดอยู่ภายในโครงสร้างของโปรเจ็กต์ไหน ก็จะเป็นองค์ประกอบของโปรเจ็กต์นั้นๆ ดังรูป
รูปที่ 1.9 แสดง Project Explerer แบบโปรเจ็กต์เดียว
vb1-10.gif (5575 bytes)
รูปที่ 1.10 แสดง Project Explorer แบบหลายโปรเจ็กต์

note.gif (1525 bytes)      ในโปรเจ็กต์หนึ่งจะประกอบไปด้วยอย่างน้อยที่สุด 1 ฟอร์ม (ยกเว้นกรณีที่คุณสร้างแอพพลิเคชันชนิด *.dll ไม่จำเป็นจะต้องมีฟอร์ม) ถ้าคุณต้องการเพิ่มฟอร์มเข้าไปในโปรเจ็กต์ใด ให้ทำดังนี้
  • เลือนเมาส์ไปบริเวณหน้าต่าง Project Explorer
  • คลิ๊กขวาเพื่อแสดง pop-up เมนู
  • เลือกคำสั่ง Add/Form
     คุณอาจเลือกจากเมนู Project แล้วเลือกรายการที่ต้องการเพิ่มก็ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าคุณสามารถเพิ่มรายการอื่นๆ เข้ามาในโปรเจ็กต์ได้อีกหลายชนิด ซึ่งผู้เขียนจะกล่างถึงในหัวข้อต่อๆไป
    สำหรับรายการชนิดของอ๊อบเจ็กต์ที่ปรากฎอยู่ในหน้าต่าง Project Explorer นี้มีหลายชนิด นี่เป็นบางส่วนที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็น ในการเริ่มต้นสร้างแอพพลิเคชันหนึ่งๆ ให้มีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่งได้
Project(n) แสดงแอพพลิเคชันที่คุณพัฒนาอยู่ อาจมีโปรเจ็กต์เดียวหรือหลายโปรเจ็กต์ก็ได้ โดยปกติจะมีนามสกุล .vbp ถ้ามีหลายโปรเจ็กต์จะมีนามสกุล .vbg
Form(n) เป็นรายการฟอร์มที่มีอยู่ในโปรเจ็กต์นั้นๆ ใน 1 โปรเจ็กต์อาจมีมากกว่า 1 ฟอร์มก็ได้ จะมีนามสกุล .frm
Modules เป็นที่เก็บชุดคำสั่งหรือรูทีนที่คุณเขียนขึ้นมาและคุณสามารถเซฟเก็บไว้ใช้ในภายหลังได้อีกด้วย โปรแกรมเมอร์มักจะเก็บคำสั่งหรือโพรซีเดอร์ที่ใช้บ่อยๆไว้เป็นโมดูล ซึ่งจะมีนามสกุล .bas
Class modules เป็นโมดูลชนิดพิเศษที่มีลักษณะเป็นอ๊อบเจ๊กต์ ที่คุณสามารถสร้างขึ้นมาได้ จะมีนามสกุล .cls
User controls คือ คอนโทรล ActiveX ที่คุณสร้างขึ้นมา มีนามสกุล .ctl
        ยังมีชนิดของอ๊อบเจ็กต์อื่นๆอีกที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ได้ ซึ่งคุณจะศึกษาในบทต่อๆ ไป รายการอ๊อบเจ็กต์ที่กล่าวมาแล้ว ถือได้ว่า เป็นองค์ประกอบหลักที่ จะทำให้แอพพลิเคชันของคุณมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ดั่งเช่นแอพพลิเคชัน ที่ได้รับความนิยมทั่วๆไป ในท้องตลาด

หน้าต่างคุณสมบัติ (Properties Window)

     หน้าต่างคุณสมบัติ จะมีความสัมพันธ์กับฟอร์ม, คอนโทรล หรืออ๊อบเจ็กต์ใดๆ ที่มีสถานะแอกทีฟ (active) หรือได้รับความสนใจ (focus) อยู่ในขณะนั้น โดยที่ VB จะเปลี่ยนแปลงหน้าต่างคุณสมบัติให้ตรงกับอ๊อบเจ็กต์ โดยอัตโนมัติ ซึ่งในส่วนนี้คุณสามารถอ่านค่า, ปรับแต่งค่าเริ่มต้น (initial) ของคอนโทรล หรืออ๊อบเจ็กต์ใดๆ ได้จากหน้าต่างนี้ ถือได้ว่าเป็นหัวหลักอันหนึ่งของการ programming ด้วย VB ที่ช่วยให้คุณเขียนโค้ดเป็นอย่างยิ่ง
vb1-11.gif (8148 bytes)      โดยปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอ๊อบเจ็กต์ หรือคอนโทรลใดๆ VB จะตั้งค่าปกติ (default) ให้คุณโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่เหมาะสมดีอยู่แล้ว และส่วนที่ VB ตั้งค่ากลางๆ เอาไว้ จะมีทั้งที่คุณต้องปรับแต่ง และไม่ต้องยุ่งเกี่ยว คุณสมบัติบางตัวเท่านั้น ที่คุณควรปรับแต่งค่าเริ่มต้นในหน้าต่างคุณสมบัตินี้ อีกส่วนหนึ่งจะใช้วิธีการเขียนโค้ด เพื่อปรับแต่งค่าคุณสมบัติ   ซึ่งเป็นเทคนิคที่ไมโครซอฟท์แนะนำให้ใช้
รูปที่ 1-11 แสดงหน้าต่างคุณสมบัติแบบ Alphabetic
     ในหน้าต่างคุณสมบัติ จะประกอบไปด้วยแท็บ 2 แท็บคือ
  • แท็บ Alphabetic เป็นแท็บที่แสดงรายการคุณสมบัติ เรียงตามตัวอักษรในภาษาอังกฤษ
  • แท็บ Categorized เป็นแท็บที่แสดงรายการคุณสมบัติ โดยการจัดกลุ่มของคุณสมบัติที่มีหน้าที่คล้ายกัน หรือมีความสัมพันธ์กัน
vb1-12.gif (8766 bytes)      คุณสามารถเลือกรายการคอนโทรลใดได้จากหน้าต่างคุณสมบัติเช่นกัน โดยคลิ๊กที่ drop-down list box มันจะแสดงรายการคอนโทรลที่คุณใช้งานอยู่ และคุณยังสามารถทราบความหมายเบื้องต้น ของคุณสมบัติที่คุณเลือก โดยคำนิยามสั้นๆ ที่อยู่ด้านล่างอีกด้วย
รูปที่ 1-12 แสดงหน้าต่างคุณสมบัติแบบ Categorized

หน้าต่าง Form Layout

     หน้าต่าง Form Layout ใช้สำหรับกำหนดตำแหน่งของฟอร์ม ที่จะปรากฎบนจอภาพในขณะรัน คุณสามารถกำหนดตำแหน่งของฟอร์ม โดยการเคลื่อนย้ายฟอร์มจำลอง ที่อยู่ในจอภาพจำลอง ด้วยการ drag เมาส์ ไปยังตำแหน่งที่คุณต้องการ  (เมาส์เปลี่ยนเป็นรูปร่าง ลูกศร 4 ทาง) มีข้อสังเกตคือ เมื่อคุณเคลื่อนย้ายฟอร์มจำลองแล้ว ฟอร์มจริงไม่ได้เคลื่อนย้ายไปยังตำแหน่งดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะว่ามันจะมีผลในขณะรันเท่านั้น
vb1-13.gif (3362 bytes)
รูปที่ 1-13 แสดงหน้าต่าง Form Layout

หน้าต่างแสดงผลทันที (Immediate Window)

     เป็นหน้าต่างที่ให้ประโยชน์ ในกรณีที่คุณต้องการทราบผล การประมวลผลโดยทันที เช่น การทดสอบโพรซีเดอร์ต่างๆ เป็นต้น เมื่อคุณสั่งรันโปรเจ็กต์ หน้าต่างนี้จะปรากฎขึ้นโดยอัตโนมัติ คุณสามารถแสดงหน้าต่างนี้โดยการเลือกที่เมนู View/Immediate Window   เช่นกัน
vb1-14.jpg (7308 bytes)
รูปที่ 1-14 แสดงหน้าต่าง Immediate

สภาพแวดล้อมโดยรวมของ VBIDE

สภาพแวดล้อมของ VBIDE สามารถแบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้
1.โหมด MDI (Multiple Document Interface) จะแสดงหน้าต่างในรูปแบบเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมปกติของ VB ดังรูป
vb1-15.jpg (26201 bytes)
รูปที่ 1-15 แสดงสภาพแวดล้อมของ VBIDE แบบ MDI
2.โหมด SDI (Sinle Document Interface) จะแสดงหน้าต่างที่มีลักษณะเป็นอิสระต่อกัน แต่ยังคงมีความสัมพันธ์กันเหมือนโหมด MDI แต่จะใช้พัฒนาแอพพลิเคชันอีกชนิดหนึ่ง ดังรูป
vb1-16.jpg (37884 bytes)
รูปที่ 1-16 แสดงสภาพแวดล้อมของ VBIDE แบบ SDI

การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจาก MDI เป็น SDI

1.เลือกเมนู Tools/Options จะปรากฎไดอะล๊อกบ๊อกซ์ Options ดังรูป
vb1-17.gif (9020 bytes)
รูปที่ 1-17 แสดงไดอะล๊อกบ๊อกซ์ Options
2.คลิ๊กที่แท็บ Advanced เลือก SDI Development Environment แล้วคลิ๊ก vbok.gif (1011 bytes)  VBIDE จะเปลี่ยนเป็นแบบ SDI ในการรัน VB ครั้งต่อไป
vb1-18.gif (4706 bytes)
รูปที่ 1-18 แสดงแท็บ Advanced

การปรับแต่งสภาพแวดล้อมให้ตรงกับความต้องการ

     จากหัวข้อที่ผ่านมา ผู้เขียนได้อธิบายการใช้งานส่วนต่างๆ ของ VBIDE ซึ่งในการใช้งานจริงๆ แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องแสดงผลทุกๆ หน้าต่าง พร้อมๆกัน เพราะจะทำให้พื้นที่ในการทำงานของคุณมีน้อย เมื่อคุณพัฒนาแอพพลิเคชันไปได้ระยะหนึ่ง คุณจะพบว่า สภาพแวดล้อมแบบใด เหมาะสมกับโปรเจ็กต์ใด และควรจะแสดงหน้าต่างอะไรบ้างในเวลาหนึ่งๆ ผู้เขียนจะพยายามปิดหน้าต่าง ที่ไม่ได้ใช้งานเสมอ ผู้เขียนถือว่า ถ้าคุณจัดโต๊ะทำงานของคุณให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย เก็บสิ่งที่ยังไม่ได้ใช้งานไว้ในลิ้นชัก เอาสิ่งที่ต้องการใช้งานวางไว้บนโต๊ะ มันจะส่งผลให้การพัฒนาแอพพลิเคชันของคุณสะดวก และรวดเร็ว ในระดับหนึ่งอีกด้วย

ข้อตกลงของผู้เขียน

     ในบทต่อๆไป จะเริ่มเข้าสู่การเขียนแอพพลิเคชันอย่างแท้จริง ต่อไปนี้จะเป็นแนวทางการนำเสนอของผู้เขียน ที่จะใช้เป็นรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
  • ถ้าเป็นส่วนของโค้ด หรือตัวอย่าง source code ของโปรแกรม ผู้เขียนจะใช้ฟอนต์ที่มีลักษณะแตกต่างจากฟอนต์ปกติ และใช้การเว้นวรรค ตัดคำ ให้ตรงกับไวยากรณ์ที่ VB ยอมรับ เช่น
Private Sub Command1_Click ( )
    Text1.Text = "hello world"
End Sub

  • ถ้าเป็นรูปแบบไวยากรณ์ จะใช้ตัวเข้มเพื่อแทนรูปแบบ (format), คำสั่ง (statements), ฟังก์ชัน(functions), คำสงวน (keyword) หรืออื่นๆ ให้ตรงกับรูปแบบการนำเสนอของ msdn Library เพื่อให้คุณมีความคุ้นเคย และจะใช้ตัวเอน เพื่อแสดงส่วนของตัวแปร, พารามิเตอร์, อาร์กิวเมนต์ หรืออื่นๆ ซึ่งคุณสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น
                Form1.Enabled [= boolean]
  • ส่วนตัววงเล็บ [ ] คุณไม่ต้องพิมพ์ลงไป และตัวแปรที่อยู่ในวงเล็บหมายถึง คุณจะใส่ หรือไม่ใส่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการใช้งานของคุณ เช่น
               {Dim|Private} varname As datatypes
  • ส่วนตัววงเล็บ { } คุณไม่ต้องพิมพ์ลงไปเช่นกัน และตัวแปรที่อยู่ในวงเล็บดังกล่าว จะถูกคั่นด้วยเครื่องหมาย |  หมายถึง คุณจะต้องใส่ ตัวแปรตัวใดตัวหนึ่ง     ในวงเล็บ { } ดังกล่าว เช่น
Private varname As datatypes  หรือ
Dim varname As datatypes

  •  สำหรับค่าของตัวแปร ถ้ามีคำว่า default หมายถึง เป็นค่าที่ VB ตั้งไว้ให้คุณแล้ว คุณจะเปลี่ยน หรือไม่ก็ได้, ถ้ามีคำว่า Optional หมายถึง เป็นข้อกำหนดเพิ่มเติมของการใช้งานตัวแปรนั้นๆ  คุณจะใส่ หรือไม่ใส่ก็ได้
  • ในส่วนของ คุณสมบัติ (properties), เมธอด (methods), และค่าคงที่ (constants) รวมทั้งที่ผู้เขียนจะระบุเฉพาะเจาะจง ผู้เขียนจะไม่อธิบายทั้งหมด เพราะว่าคุณสามารถค้นหาเพิ่มเติมได้จาก msdn Library จุดประสงค์ของผู้เขียนก็คือ จะเน้นการนำไปใช้งานให้มากที่สุด โดยแสดงตัวอย่างประกอบ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากที่สุด แต่ยังไม่ทิ้ง concept ที่เป็นพื้นฐานในการใช้งาน และส่วนที่ผู้เขียนละไว้ เนื่องจากว่า คุณสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ซึ่งจะระบุหัวข้อใน msdn Library ที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้นๆ เสมอ เพื่อให้คุณผู้อ่านรับข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนอย่างมีระบบ
  • สำหรับในส่วนของเนื้อหาใดที่มีความสัมพันธ์กัน ในลักษณะข้ามบท เนื้อหาที่อยู่ในบทหลัง จะมีการประยุกต์ใช้งานมากกว่า ซึ่งผู้เขียนจะระบุทุกครั้ง ถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้อง และเนื้อหาในทุกๆ บท คุณไม่จำเป็นต้องอ่านเรียงบทก็ได้ คุณสามารถค้นหาหัวข้อที่คุณต้องการ ได้จากสารบัญ
  • เนื้อหาที่เกิดขึ้นในบทต่างๆ เป็นเพียงสิ่งที่ผู้เขียนได้มาจากการศึกษา ค้นคว้า มิได้เป็นการคัดลอก หรือแปลมาจากส่วนใด โดยใช้  msdn Library ของ VB 6.0+SP2   เป็นแกนหลักในเนื้อหา และส่วนที่ผู้เขียนจะระบุอ้างอิงเพิ่มเติม
  • สำหรับชื่อคอนโทรล หรืออ๊อบเจ็กต์ต่างๆ ผู้เขียนจะใช้ชื่อ คลาส (class) ของคอนโทรล หรืออ๊อบเจ็กต์นั้นๆ ในการอ้างอิง ซึ่งจะทำให้ผู้อ่าน มีความคุ้นเคยกับคอนโทรล หรืออ๊อบเจ็กต์ของ VB ในลักษณะคลาสมากขึ้นอีกด้วย
  • คำนิยาม หมายถึง คำหรือข้อความต่างๆ ที่ผู้เขียนจะใช้สำหรับกล่าวอ้างอิงในภายหลัง ซึ่งจะมีความหมายดังนี้
    • แอพพลิเคชัน (application) หมายถึง คำที่ผู้เขียนใช้แทนโปรแกรมทั่วๆ ไปในท้องตลาด ซึ่งอาจรวมถึงโปรแกรมที่รันภายใต้ระบบปฏิบัติการ Dos    หรือ Windows ก็ได้
    • อาร์กิวเมนต์ (argument) หมายถึง ตัวแปร, ค่าคงที่ หรือพารามิเตอร์ ซึ่งใช้สำหรับส่งค่าเข้าไปในฟังก์ชัน หรือส่งค่าเข้าไปในโพรซีเดอร์
    • คอมไพล์ (compile) หมายถึง การแปลงโปรเจ็กต์ ให้เป็นแอพพลิเคชันที่สมบูรณ์ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีนามสกุล .exe
    • ดีไซน์ไทม์ (design time) หมายถึง ช่วงเวลาที่โปรแกรมเมอร์ออกแบบอินเตอร์เฟส หรือเขียนโค้ด (coding) อาจใช้คำว่า ขณะออกแบบ ก็ได้
    • คำสงวน (keyword) หมายถึง คำหรือข้อความ ที่ Visual Basic นำไปใช้เป็นชุดคำสั่ง, คอนโทรล, อ๊อบเจ็กต์, ฟังก์ชันหรืออื่นๆ ซึ่งคำหรือข้อความเหล่านี้ คุณไม่สามารถนำไปใช้ตั้งชื่อ หรืออื่นใดที่ไม่ใช่หน้าที่ หรือไวยากรณ์ของมัน
    • โปรเจ็กต์ (project) หมายถึง คำที่ใช้เรียกแทนโปรแกรม หรือ source code ที่ยังไม่ได้ถูก compile
    • รันไทม์ (run time) หมายถึง ช่วงเวลาที่โปรแกรมเมอร์กำลังทดสอบโค้ด หรือกำลังรันโปรเจ็กต์อยู่ เป็นช่วงเวลาที่ไม่สามารถแก้ไขโค้ด      โดยการกดปุ่ม F5 หรือกดปุ่มรันบนทูลบาร์
  • ลิขสิทธิ์อ้างอิง
    • Microsoft Visual Basic 6.0, Internet Explorer 5.0, msdn Library, Microsoft Office 97, Microsoft Office 2000 เป็นเครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ของบริษัท Microsoft Coporation Co.,LTD USA
    • Netscape Communicator 4.51, Netscape Composer เป็นเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของ Netscape Coporation Co.,LTD USA
    • Intel, Pentium, Pentium Pro, MMX, Celeron, Pentium II, Pentium III เป็นเครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ของบริษัท Intel      Coporation Co.,LTD USA
    • Final Fantasy VIII เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท SQUARE SOFT CO.,LTD JAPAN

0 comments:

Post a Comment